กทม. ติดตามและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน

กดติดตาม TOP NEWS

ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี พื้นที่กรุงเทพฯ มักจะมีฝนตกชุกในระดับปานกลางถึงหนักมากในบางแห่ง จึงต้องมีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า และวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างแม่นยำและเป็นระบบ

 

 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึงล่วงหน้าทุกปี โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนสิงหาคม-กลางเดือนตุลาคม ที่จะมีฝนตกหนัก  กทม.ได้เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำในคลองสายหลักและคลองย่อยทั่วกรุงเทพฯ ด้วยการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ให้ระบายน้ำได้เร็ว ลดเวลาน้ำท่วมขังให้เร็วมากขึ้น โดยเปิดทางน้ำไหล ลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะและวัชพืชในคลองต่างๆ พร่องน้ำในคลอง ซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำ

 

 

 

ขณะที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศและระดับน้ำจากเรดาร์ตรวจอากาศแบบเรียลไทม์ และมีการสั่งการผ่านวิทยุสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละสถานีสูบน้ำ เพื่อคอยติดตามสถานการณ์ ระดับน้ำในคลองให้อยู่ในแผนควบคุม ตามแนวทางการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร และในช่วงที่มีการคาดการณ์ว่าฝนจะตกหนัก  กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าแก้ไขปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉิน (หน่วย Best) พร้อมปฏิบัติงานในจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม เพื่อแก้ไขน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนักมากในทันที พร้อมระบายน้ำ ควบคุมระดับน้ำในคลองให้ลดลงได้ตลอดเวลาอีกด้วย

 

 

อีกทั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ได้มีนโยบายให้สร้างระบบการระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยใช้หลักวิศวกรรม สร้างท่อเร่งระบายน้ำใต้ดิน (Pipe Jacking)  ธนาคารน้ำใต้ดิน (Water Bank) และอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำให้เร็วที่สุด รวมถึงเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำบนดิน (แก้มลิง) รองรับน้ำก่อนระบายน้ำจากพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว ทำให้จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมมีอยู่กว่า 20 จุด ได้มีการทยอยแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันเหลือไม่เกิน 14 จุด ซึ่งภายในปี 2564  จะทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาจุดเสี่ยงอีกเกือบ 7 โครงการ ส่งผลให้ปลายปี 2564 จะเหลือจุดเสี่ยงไม่กี่จุดเท่านั้น

 

 

และด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชน รวมถึงพื้นที่การเกษตร ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะ ได้ลงเรือตรวจระดับน้ำในคลองทั้ง 3 สายหลักในเขตลาดกระบัง สถานการณ์ล่าสุด ระดับน้ำได้ลดลงไปบ้างแล้ว โดยการประสานกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ไปลงคลองด่าน ผ่านไปยังคลองชายทะเลที่สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร สูบน้ำออกสู่ทะเลบริเวณอ่าวไทย อีกทั้ง กทม.ก็ได้เพิ่มการระบายน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ออกไปทางสถานีสูบน้ำพระโขนง แล้วสูบลงคลองพระโขนงเพื่อระบายออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 2-3 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเติมในพื้นที่อีก สถานการณ์น้ำในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองต่างๆ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนสามารถใช้ถนน เป็นเส้นทางสัญจรไปมาได้อย่างปลอดภัย รวมถึงบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะสามารถอาศัยได้ตามปกติ

 

 

 

 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า “เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมาณฝนสูงสุด 189 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำคลองในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก มีระดับสูงขึ้น ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลทางด้านจังหวัดสมุทรปราการไม่ได้ ที่ผ่านมา กทม.ได้ปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนเข้ามาอีก ซึ่งระดับน้ำภายนอกสูงกว่าระดับน้ำภายใน 10-20 เซนติเมตร พร้อมกันนี้ได้เดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาอีก ระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร กทม. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำเร่งระบายน้ำในคลองออกสู่ทะเล สำนักงานเขตพื้นที่ให้ความดูแลช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่ง”

 

 

อย่างไรก็ตาม กทม.และกรมชลประทาน ได้มีการประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมระดับน้ำทั้งด้านในและด้านนอกประตูระบายน้ำ รวมถึงพร่องน้ำและจัดเก็บขยะในคูคลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดทางน้ำและระบายน้ำลงสู่คลองสายต่างๆ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ ชั้นใน รวมไปถึงพื้นที่เกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง

 

ประชาชนสามารถติดตามการแจ้งเตือนสภาพอากาศ สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ของสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมทั้งแอปพลิเคชัน “กทม.Connect” หากพบปัญหาน้ำท่วมขัง แจ้งได้ที่ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. โทร. 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น